โซนแค – TH

ประกอบไปด้วยพืชต่างๆดังนี้

 


กรวยป่า

ชื่ออังกฤษ : Casearia grewiaefolia

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Casearia grewiaefolia Vent

ลักษณะของกรวยป่า

• ต้นกรวยป่า จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงกลาง มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร รูปทรงโปร่ง ออกกิ่งตั้งฉากกับลำต้น ลำต้นเปลาตรง มีลายสีขาวปนดำ คล้ายตัวแลนหรือตะกวด บางท้องที่จึงเรียกว่า “คอแลน” เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบเป็นสีเทา สีน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลเข้มแตกเป็นเกล็ดเล็ก ๆ มีขนสีน้ำตาลแดงทั่วไป กิ่งอ่อนมีขนสั้น หนานุ่ม สีน้ำตาลแดง มีน้ำยางสีขาวใส ส่วนเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อนเกือบขาว ต้นที่มีอายุมาก โคนต้นมักมีพูพอน มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย จนถึงหมู่เกาะในภูมิภาคเมลานีเซีย ในประเทศไทยพบขึ้นทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบ และป่าทุ่งทั่วไปจนถึงพื้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร

 

 

 


กระทุ่ม

ชื่ออังกฤษ : Wild cinchona

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Neonauclea purpurea (Roxb.)

ลักษณะของกระทุ่ม • ต้นกระทุ่ม จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบหรือไม่ผลัดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-30 เมตร บางครั้งมีพูพอน ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น ปลายกิ่งโน้มลง เปลือกลำต้นเป็นสีเทาแก่ แตกเป็นร่องตามยาว มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง โดยสามารถพบได้ตั้งแต่ประเทศเนปาล บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ไปจนถึงฟิลิปปินส์และปาปัวนิวกินี ส่วนในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยมักจะขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง หรือตามหุบเขาหรือริมลำธารที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,500 เมตร[1],[2],[3],[4] • ใบกระทุ่ม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบมนออกแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมน กลม หรือเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-17 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20 เซนติเมตร แผ่นใบบางและเหนียว หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนสั้นนุ่มหรือบางทีเกลี้ยง มีเส้นแขนงของใบประมาณ 11-20 คู่ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร และมีหูใบลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร

 

 

 


ราชพฤกษ์ (คูณชมพู)

ชื่ออังกฤษ : Golden Shower Tree

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia fistula

เป็นไม้ดอกในตระกูล Fabaceae เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียใต้ ตั้งแต่ทางตอนใต้ของปากีสถาน ไปจนถึงอินเดีย ศรีลังกา พม่า และ ไทย นอกจากนี้ดอกราชพฤกษ์ยังเป็นดอกไม้ประจำชาติไทยอีกด้วย ลักษณะ ราชพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูง 10-20 เมตร ดอกขึ้นเป็นช่อยาว 20-40 เซนติเมตร แต่ละดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-7 เซนติเมตร มีกลีบดอกสีเหลืองขนาดเท่ากัน 5 กลีบ ผลยาว 30-62 เซนติเมตร และกว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร มีกลิ่นฉุน และมีเมล็ดที่มีพิษเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับชื่อ ชื่อของราชพฤกษ์นั้นมีการเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียกราชพฤกษ์ว่า คูน เนื่องจากจำง่ายกว่า (แต่มักจะเขียนผิดเป็น คูณ) ทางภาคเหนือเรียกว่า ลมแล้ง ทางภาคใต้เรียกว่า ราชพฤกษ์ ลักเกลือ หรือ ลักเคย ชาวกะเหรี่ยงและในกาญจนบุรีเรียกว่า กุเพยะ ในช่วงแรก ๆ ต้นราชพฤกษ์จะเจริญเติบโตได้ช้าในระยะเวลาประมาณ 1-3 ปีแรก หลังจากนั้นต้นราชพฤกษ์จะเจริญเติบโตเร็วขึ้น เปลือกจะเป็นสีน้ำตาลเรียบ มีรากแก้วยาวสีเหลือง และ มีรากแขนงเป็นจำนวนมาก เมื่อต้นราพฤกษ์มีอายุ 4-5 ปี จึงออกดอกและเมล็ดและเจริญเติบโตต่อไป

 

 

 


แคนา

ชื่ออังกฤษ : Dolichandrone serrulata

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dolichandrone serrulata (Wall. ex DC.) Seem.

ลักษณะของแคนา • ต้นแคนา หรือ ต้นแคป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของลำต้นได้ถึง 10-20 เมตร ลำต้นเปลาตรง มักแตกกิ่งต่ำ เปลือกของลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนอมสีเทาและอาจมีจุดดำประ ผิวต้นเรียบหรือล่อนเป็นเกล็ดขนาดเล็ก ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำราก โดยสามารถพบต้นแคนาได้ตามป่า ตามทุ่ง ตามไร่นา และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศลาว พม่า เวียดนาม และในประเทศไทยสามารถพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคกลาง โดยอาจจะได้ประปรายในป่าเบญจพรรณ และพบได้บ่อยตามนาข้าวทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ระดับความสูงไม่เกิน 300 เมตร  ใบแคนา มีใบเป็นใบประกอบแบบขนชั้นเดียวปลายคี่ ออกตรงข้ามกันประมาณ 3-5 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบหยักเป็นแบบซี่ฟันตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-16 เซนติเมตร ผิวใบด้านล่างมีขนสั้นอยู่ประปรายบนก้านใบ ส่วนก้านใบย่อยมีความยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร

 

 

 


แค

ชื่ออังกฤษ : Agasta, Sesban

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sesbania grandiflora (L.) Pers.

จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE) สมุนไพรแค มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แคขาว แคแดง แคดอกขาว ดอกแคแดง แคดอกแดง (กรุงเทพ-เชียงใหม่), แค แคบ้าน ต้นแค แคบ้านดอกแดง ดอกแคบ้าน (ภาคกลาง), แคแกง เป็นต้น ลักษณะของต้นแค • ต้นแค หรือ ต้นดอกแค เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียหรือในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขามาก ไม่เป็นระเบียบ มีความสูงประมาณ 3-10 เมตร เนื้อไม้อ่อน ที่เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา เปลือกหนาและมีรอยขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด สามารถเจริญเติบโตได้ทั่วไปในเขตร้อนชื้น เป็นต้นไม้ที่โตเร็ว สามารถปลูกได้ทุกที่ และมักขึ้นตามป่าละเมาะ หัวไร่ปลายนา มีอายุราว ๆ 20 ปี แต่ถ้าเก็บกินใบบ่อย ๆ จะทำให้ต้นมีอายุสั้นลง และต้นแคจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด สำหรับในบ้านเราจังหวัดที่มีการปลูกต้นแคเพื่อการค้านั้นก็ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ สุพรรณบุรี และกรุงเทพฯ • ใบแค เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยขนาดเล็กรูปขอบขนาน ปลายใบมนกว้าง ขอบใบและแผ่นใบเรียบ ใบสีเขียว กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร • ดอกแค ลักษณะของดอกคล้ายดอกถั่ว ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ 2-3 ดอก ดอกมีกลิ่นหอม มีสีขาวหรือสีแดง มีก้านเกสรตัวผู้สีขาวอยู่ 60 อัน กลีบเลี้ยงเป็นรูประฆังหรือรูปถ้วย • ผลแค ผลมีลักษณะเป็นฝักกลมยาว มีความยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ผสมเกสรโดยนก ฝักเมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก และมีเมล็ดอยู่ด้านใน ฝักแคมีสีเขียวอ่อน สามารถรับประทานเป็นอาหารได้

 

 

 


แคแสด

ชื่ออังกฤษ : Africom tulip tree, Fire bell.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spathodea campanulata P.Beauv.

จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE) สมุนไพรแคแสด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แคแดง (กรุงเทพ), ยามแดง เป็นต้น โดยแคแสดนั้นเป็นพืชพื้นเมืองของแอฟริกาตอนใต้ และในภายหลังได้แพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ ของโลกที่มีอากาศค่อนข้างร้อน ลักษณะทั่วไปของแคแสด • ต้นแคแสด หรือ ต้นแคแดง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 15-20 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดพุ่มกลมและค่อนข้างทึบ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเข้มและมีรอยแตกเป็นรวงตามยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือใช้หน่อ หากปลูกในที่แห้งมากจะผลัดใบ แต่จะไม่พร้อมกันทั้งต้น และถ้าหากตัดแต่งกิ่งให้แตกเป็นพุ่มกลม ก็จะให้ดอกที่พุ่มกลมตามรูปของเรือนยอดและดูสวยงามมาก• ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือปลูกให้ร่มเงา โดยจะนิยมปลูกตามสวนสาธารณะ ปลูกตามสถานที่ราชการหรือตามริมทางทั่วไป • ดอกแคแสดสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้เหมือนแคบ้าน

 

 

 


แคหัวหมู

ชื่ออังกฤษ : Markhamia stipulata

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Markhamia stipulata var. stipulata

จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE) สมุนไพรแคหัวหมู ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แคหมู แคพุงหมู แคหัวหมู(ทั่วไป), แคปุ๋มหมู (เชียงใหม่), แคขอน แคหางต่าง แคหางค่าง (เลย), แคอาว (นครราชสีมา), ขุ่ย แคว (กระเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน), แคหมากลิ่ม (เงี้ยว แม่ฮ่องสอน), แคยอดดำ (ภาคใต้) เป็นต้น และอีกข้อมูลหนึ่งได้ระบุว่าแคหัวหมูยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่น ๆ อีกว่า แคป่า แคหางค่าง (คนเมือง), แควะ เปาะแควะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), แคว (กะเหรี่ยง), ตะหย่ากุ๊มีเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), แคฝอย (ไทลื้อ), แคหางค่าง (ไทใหญ่), ปั้งอ่ะ (ม้ง), ดอกแก ดอกแกป่า (ลั้วะ), ไฮ่ไม้แก้ (ปะหล่อง), ต่าด้าวเดี๋ยง (เมี่ยน) เป็นต้น ลักษณะของแคหัวหมู • ต้นแคหัวหมู จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร เป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดดจัดและดินร่วนปนทราย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด สามารถพบได้ตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังหรือป่าคืนสภาพ ไปจนถึงระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตร

 

 

 


แคหางค่าง

ชื่ออังกฤษ : Karen wood

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Markhamia stipulata (Wall.) Seem.

ลักษณะของแคหางค่าง • ต้นแคหางค่าง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร และอาจสูงได้ถึง 20 เมตร มีลักษณะทั่วไปคล้ายแคหัวหมู แต่ใบประกอบจะสั้นกว่าเล็กน้อย มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีนตอนใต้ ลาว เวียดนามและทางภาคเหนือของไทย โดยมักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าผลัดใบผสม ป่าดิบแล้ง และชายป่าดิบเขาทั่วไป ที่ระดับความสูงประมาณ 400-1,600 เมตร • ใบแคหางค่าง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงตรงข้าม ใบย่อยมีหลายคู่หรือประมาณ 4-8 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน รูปวงรีแกมขอบขนาน หรือรูปวงรีแกมใบหอกถึงรูปใบหอก ปลายใบแหลม เรียวแหลม หรือยาวคล้ายหาง ส่วนโคนใบแหลมกว้างถึงกลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-26 เซนติเมตร มีต่อมรูปถ้วยที่บริเวณใกล้โคนใบ ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น • ดอกแคหางค่าง ออกดอกเป็นช่อกระจะที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ดอกย่อยมีหลายดอก ขนาดใหญ่ กลีบดอกเป็นสีเหลืองหม่น เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์• ผลแคหางค่าง ผลมีลักษณะเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระบอก แตกออกได้ตามพู ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 35-55 เซนติเมตร และมีขนยาวคล้ายขนสัตว์ขึ้นปกคลุมแน่น เมล็ดเป็นรูปสามมุมและปักเป็นเยื่อ ติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน สรรพคุณของแคหางค่าง 1. เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (เมล็ด) 2.เนื้อไม้นำมาใช้ทำโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้าน เช่น ฝาบ้าน ไม้กระดานดำ หรือใช้ทำด้ามปืน เป็นต้น

 

 

 


จาก

ชื่อสามัญ : Nypa, Atap palm, Nipa palm.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nypa fruticans Wurmb

ลักษณะของต้นจาก • ต้นจาก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศไทย จัดเป็นปาล์มแตกกอจากลำต้นใต้ดินหรือลำต้นที่เลื้อยไปบนดิน โดยโผล่ก้านใบและตัวใบขึ้นมาอยู่เหนือดิน ลำต้นจะแตกแขนงอยู่ใต้ดินทำให้ขึ้นเป็นกอ ๆ และหลายทอด ต้นจากมีความสูงประมาณ 3 เมตร เจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียว มีอินทรียวัตถุสูง และมีน้ำท่วมขัง ชอบแสงแดดจัด • ใบจาก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน มีความกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 90-120 เซนติเมตร แผ่นใบหนา ปลายใบมีลักษณะเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม (ลักษณะคล้ายใบมะพร้าว) และเป็นรูปรางน้ำคว่ำ ที่ผิวใบด้านบนมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนผิวใบด้านล่างมีสีนวล ส่วนกาบใบใหญ่ห่อโคนต้น ก้านใบที่แตกใหม่จะเป็นสีม่วงแดง ส่วนโคนใบจะมีกะเปาะอากาศเป็นตัวช่วยพยุงให้ใบชูขึ้นเหมือนชูชีพ ส่วนกาบใบนี้บางครั้งจะเรียกว่า “พอนใบ” ส่วนช่อดอกที่แทงออกมาเรียกว่า “นกจาก“• ดอกจาก ดอกมีสีเหลือง ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกแน่นระหว่างกาบใบ ดอกเป็นรูปกลม ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน ช่อดอกจะชูตั้งขึ้นและโค้งลง มีความยาวประมาณ 25-65 เซนติเมตร ออกดอกได้ตลอดทั้งปี

 

 

 


ตะคร้อ

ชื่ออังกฤษ : Ceylon oak

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Schleichera oleosa (Lour.) Merr.

ลักษณะของตะคร้อ • ต้นตะคร้อ มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ในต่างประเทศสามารถพบได้ที่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีนและอินโดนีเซีย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เมตร แตกกิ่งก้านต่ำ เรือนยอดมีลักษณะเป็นทรงพุ่มแผ่กว้าง กิ่งก้านมักคดงอ ลำต้นเป็นปุ่มปมและพูพอน เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเป็นสีน้ำตาลเทา เปลือกแตกเป็นสะเก็ดหนา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยสามารถพบได้ตามป่าผลัดใบ ป่าดิบเขา และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ที่ระดับความสูงถึง 1,200 เมตร • ใบตะคร้อ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายใบออกเป็นคู่ออกเรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ใบย่อยติดเรียงตรงข้ามหรืออาจเยื้องกันเล็กน้อยประมาณ 1-4 คู่ โดยใบคู่ปลายสุดของช่อใบจะมีขนาดใหญ่และยาวที่สุด ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี หรือรูปรีขอบขนาน ปลายใบมนหรือหยัก มีหางสั้น ๆ หรือติ่งสั้น ๆ โคนใบมนหรือสอบและมักเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4.5-12 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-25 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนาเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน เส้นแขนงใบมีประมาณ 8-16 คู่ ปลายเส้นจรดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบย่อยจะสั้นมาก ส่วนก้านช่อใบยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร โดยใบอ่อนมีขนเล็กน้อยตามเส้นใบ • ดอกตะคร้อ ออกดอกเป็นช่อปลายยอดหรือตามซอกใบ ช่อดอกมีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร และช่อดอกมีลักษณะเป็นพวงแบบหางกระรอกห้อยลง ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ๆ กลีบเลี้ยงหรือกลีบรวมมีขนาดเล็กมาก มีแฉกแหลม 5 แฉก ดอกไม่มีกลีบดอก มีเกสรเพศผู้ประมาณ 6-8 ก้าน ส่วนรังไข่มีลักษณะกลมและมี 3 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 1 ออวุล เกสรเพศเมียส่วนปลายแยกเป็นแฉก 3 แฉก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน • ผลตะคร้อ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร ปลายผลเป็นจะงอยแหลมและแข็ง เปลือกผลหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวผลเกลี้ยงเป็นสีเขียวอมน้ำตาลหรือเป็นสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ด 1-2 เมล็ด มีเนื้อหุ้มเมล็ดใสสีเหลือง ลักษณะฉ่ำน้ำ และมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานได้ โดยจะออกผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม สรรพคุณของตะคร้อ 1. ราก เปลือกราก หรือทั้งห้าส่วนเป็นยาแก้กษัย (ราก, เปลือกราก) 2. ใช้ใบเป็นยาแก้ไข้ โดยใบแก่นำมาขยี้กับน้ำแล้วนำมาเช็ดตัว (ใบแก่) 3. เนื้อผลเป็นยาระบาย รับประทานมากไปจะทำให้ท้องเสียได้ (เนื้อผล) 4. เปลือกต้นเป็นยาสมานท้อง (เปลือกต้น) เป็นต้น

 

 

 


ตาล

ชื่ออังกฤษ : Asian palmyra palm, Palmyra palm.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Borassus flabellifer L.

ลักษณะของต้นตาล • ต้นตาล หรือ ต้นตาลโตนด เป็นปาล์มต้นเดี่ยวที่มีความสูงชะลูด มีลำต้นใหญ่และเนื้อแข็งแรงมาก และเป็นปาล์มที่แยกเพศกันอยู่คนละต้น ลำต้นขนาดประมาณ 30-60 เซนติเมตร มีความสูงของต้นได้ถึง 25-40 เมตร ลำต้นเป็นเสี้ยนสีดำและแข็งมาก แต่ไส้กลางของลำต้นจะอ่อน ส่วนบริเวณโคนต้นจะมีรากเป็นกลุ่มใหญ่ ในขณะที่ต้นยังเตี้ยจะมีทางใบแห้งและติดแน่น เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนและระบายน้ำได้ดี มีความชื้นปานกลาง ไม่ชอบอากาศเย็น ชอบแสงแดดจัด ทนต่อดินเค็ม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด การย้ายไปปลูกต้นจะไม่รอด เพราะรากแรกที่แทงลงดินอยู่ลึกมาก หากรากแรกขาดก็จะตายทันที • ใบตาล ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ลักษณะค่อนข้างกลมคล้ายพัด มีความกว้างประมาณ 1-1.5 เมตร แผ่นใบหนามีสีเขียว ปลายใบเป็นจักลึกถึงครึ่งแผ่นใบ ส่วนก้านใบหนามีสีเหลืองเป็นทางยาวประมาณ 1-2 เมตร และขอบของทางก้านทั้งสองข้าง จะมีหนามแข็งคล้ายฟันเลื่อยแข็ง ๆ สีดำและคมมากอยู่ตามขอบก้านใบ ส่วนโคนก้านจะแยกออกจากกันคล้ายกับคีมเหล็กโอบหุ้มลำต้นเอาไว้ • ดอกตาล ดอกมีสีขาวอมเหลือง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงระหว่างกาบใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ช่อดอกมีดอกอยู่ช่อละ 8-16 ดอก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีความกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ช่อดอกเพศผู้ใหญ่จะรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ คล้ายนิ้วมือ หรือเรียกว่า “นิ้วตาล” โดยแต่ละนิ้วจะมีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ที่โคนกลุ่มช่อจะมีก้านช่อรวมและมีกาบแข็ง ๆ อยู่หลายกาบหุ้มโคนก้านช่ออีกทีหนึ่ง ส่วนช่อดอกเพศเมียก็คล้ายกับเพศผู้ แต่ลักษณะของนิ้วจะเป็นปุ่มปม โดยปุ่มปมคือดอกที่ติดนิ้วตาล ในดอกหนึ่ง ๆ จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร และมีกาบแข็ง ๆ หุ้มอยู่ในแต่ละดอก โดยกาบนี้จะเจริญเติบโตไปเป็นหัวจุกลูกตาลอีกทีหนึ่ง • ผลตาล หรือ ลูกตาล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ผลติดกันเป็นกลุ่มแน่น ลักษณะของผลเป็นทรงกลมหรือเป็นรูปทรงกระบอกสั้น ผลเป็นเส้นใยแข็งเป็นมัน มักมีสีน้ำตาลถึงสีม่วงเข้ม ปลายผลมีสีเหลือง หรือมีสีเหลืองแกมดำคล้ำเป็นมันหุ้มห่อเนื้อเยื่อสีเหลืองไว้ภายใน ผิวผลเป็นมัน และผลมีขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตร เมื่อผลสุกแล้วจะมีสีดำ

 

 

 


ทองหลางป่า

ชื่อสามัญ : Indian Coral tree, December tree

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Erythrina subumbrans (Hassk.) Merr.

ลักษณะของทองหลางป่า • ต้นทองหลางป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบในระยะสั้น ๆ มีความสูงของต้นประมาณ 10-20 เมตร และอาจสูงได้ถึง 25 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเป็นสีขาวหม่น มีหนามแหลมสั้น ๆ ขึ้นกระจายทั่วลำต้นและกิ่ง มีเขตการกระจายพันธุ์จากอินเดียจนถึงอินโดนีเซีย พบขึ้นตามป่าดิบบริเวณที่ชุ่มชื้นและตามริมห้วยในป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 100-900 เมตร • ใบทองหลางป่า ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ ใบกลางมีขนาดใหญ่กว่าใบข้าง ลักษณะของใบย่อยเป็นหัวใจ รูปไข่แกมสามเหลี่ยม หรือรูปไข่แกมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบแหลม โคนใบตัดหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร เส้นใบด้านล่างเด่นชัด ที่โคนก้านใบมีต่อม 1 คู่  สรรพคุณของทองหลางป่า 1. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ทองหลางป่าผสมกับหนามแน่ นำมาตำผสมกับปูนแดงใช้สุมแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ) 2. ชาวอาข่าจะใช้ใบเป็นส่วนผสมของยารักษาวัณโรค (ใบ) 3. ใบใช้ตำพอกรักษาฝี (ใบ) 4. ใบนำมาบดทาแก้โรคบวมตามข้อ (ใบ) 5. ชาวเขาเผ่าเย้าจะใช้ใบทองหลางป่า นำมาตำพอกรักษากระดูกหักและแก้อาการปวดกระดูก (ใบ) 6. เปลือก แก่น และใบ นำมาให้หมูหรือไก่กินเป็นยาแก้อหิวาตกโรค (เปลือก, แก่น, ใบ) ประโยชน์ของทองหลางป่า 1. ใบอ่อนใช้รับประทานสดหรือใช้ใส่ในแกง หรือจะนำยอดอ่อนมาลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริก ใส่ในแกง แกงหน่อ แกงขนุน ฯลฯ 2. เนื้อไม้เป็นสีขาว ค่อนข้างอ่อน ใช้ทำของเล่นสำหรับเด็ก หรือนำมาใช้ทำรั้วบ้าน เพราะมีหนาม3. ดอกให้สีแดงสำหรับใช้ย้อมผ้า

 

 

 


ทองหลางลาย, ทองหลางด่าง

ชื่ออังกฤษ : Coral tree

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Erythrina variegata

เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 5-10 เมตร กิ่งอ่อนมีหนามเรือนยอดเป็นพุ่มกลมโปร่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ใบกลางจะโตกว่าสองใบด้านข้าง ออกดอกเป็นช่อยาวประมาณ 30–40 เซนติเมตร รูปดอกถั่ว สีแดงเข้ม ออกดอกระหว่างเดือนมกราคม–กุมภาพันธ์ ผลเป็นฝักยาว 15–30 เซนติเมตร ทองหลางลายกระจายพันธุ์ในเอเชียทั้งเขตร้อนและเขตอบอุ่น เจริญได้ในสภาพดินทุกชนิด ชอบดินร่วนซุย กลางแจ้ง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและปักชำ

 

 

 


ผักกับแก้ เฟิร์นแผง

ชื่ออังกฤษ : pteridophyte

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Selaginella argentea (Wall. ex Hook.& Grev.)

ลักษณะ: ต้น เป็นไม้ล้มลุกประเภทเฟิร์น ไม่มีเนื้อไม้ลำต้นเป็นเหง้า ไหลทอดไปกับพื้นดิน ใบ เป็นใบประกอบก้านใบยาวและแข็งหนา ยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ใบคลี่ แผ่ออกเป็นแผ่นกว้าง ใบอ่อนจะงอม้วน ใบเรียงตัวแบบเป็นเกลียว (Spriate) วนรอบลำต้น ก้านใบจะมีขน Ramenta ปกคลุมอยู่ สปอร์ จะเกิดอยู่หลังใบ มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบาเมื่อหลุดออกจากอับสปอร์ สามารถปลิวไปได้ไกล ๆ ตกในที่เหมาะสมจะเกิดเป็นต้นอ่อนต่อไป ประโยชน์:ทางอาหารยอดอ่อนนำมาผัดกับน้ำมัน หรือใส่ในแกงแค ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มชาวเหนือ มีมากในฤดูฝน วิธีการปรุงให้อร่อย คือ ไม่ควรผัดหรือต้มนาน เพราะจะทำให้ผักเหนียวมาก ถ้าใส่แกง ควรใส่ในขั้นตอนสุดท้ายและยกลงทันที ฤดูกาลใช้ประโยชน์: ต้นฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน)

 

 

 


เพกา

ชื่ออังกฤษ : Broken bones tree, Damocles tree.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oroxylum indicum (L.) Kurz

ต้นเพกาจัดเป็นไม้ยืนต้นและเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียแลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรวมถึงประเทศไทยบ้านเราด้วย โดยพบได้ตามป่าเบญจพรรณและป่าชื้นทั่วไป แม้ว่าต้นเพกาจะมีอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ แต่มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่นำเพกามารับประทานเป็นผัก (จัดอยู่ในหมวดดอกฝัก) ฝักอ่อนของเพกา ต่อน้ำหนัก 100 กรัม จะมีวิตามินซีถึง 484 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่าสูงมาก ๆ และยังประกอบไปด้วยมีวิตามินเอสูงถึง 8,300 มิลลิกรัม (ซึ่งพอ ๆ กับตำลึงเลยทีเดียว), ธาตุแคลเซียม 13 มิลลิกรัม, ธาตุฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม, โปรตีน 0.2 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 14 กรัม, ไขมัน 0.5 กรัม, เส้นใย 4 กรัม ยอดอ่อนของเพกา ต่อน้ำหนัก 100 กรัม จะมีวิตามินบี 1 0.18 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.7 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 2.4 มิลลิกรัม, โปรตีน 6.4 กรัม, ไขมัน 2.6 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 13 กรัม และให้พลังงาน 101 กิโลแคลอรี เพกา มีสรรคุณเป็นยา ตามตำรายาสมุนไพรนั้นเราจะใช้ส่วนต่าง ๆ ของต้นเพกาตั้งแต่ราก เปลือกต้น ฝัก ใบ รวมไปถึงเมล็ด ซึ่งจัดเป็นสมุนไพร “เพกาทั้ง 5” และหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานฝักอ่อนของเพกา เพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้ เนื่องจากฝักของเพกามีฤทธิ์ร้อนมาก ! ตามความเชื่อของคนโบราณนั้นห้ามปลูกเพกาไว้ในบริเวณบ้าน เนื่องจากฝักของเพกามีรูปร่างคล้ายดาบหรือปลายหอก อาจทำให้ผู้อยู่อาศัยมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจเลือกตกยางออกได้ และเพกายังเป็นชื่อเรียกของเหล็กประดับยอดพระปรางค์ เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายฝักของเพกา จึงถือว่าเป็นของสูงไม่คู่ควรแก่การนำมาปลูกไว้ในบ้าน แต่ถ้าจะไปปลูกไว้ตามไร่ตามสวน หรือรั้วบ้านก็คงจะไม่เป็นไร สรรพคุณของเพกา 1. สมุนไพรเพกาช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยชะลอการเสื่อมของเซล์ต่าง ๆในร่างกาย (ฝักอ่อน) 2. ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยและช่วยชะลอวัย (ฝักอ่อน) 3. ช่วยบำรุงและรักษาสายตา (ฝักอ่อน) 4. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ (ฝักอ่อน) 5. ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ (ราก, ฝักอ่อน, เพกาทั้ง 5 ส่วน) 6. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก, ใบ)

 

 

 

มะพร้าว

ชื่ออังกฤษ : Coconut

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cocos nucifera L.

มะพร้าวเป็นพืชยืนต้นที่จัดอยู่ในตระกูลปาล์ม ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบเหมือนขนนก ผลประกอบไปด้วยเปลือกนอก ใยมะพร้าว กะลามะพร้าว และชั้นสุดท้ายคือเนื้อมะพร้าว ซึ่งภายในจะมีน้ำมะพร้าว ถ้าลูกมะพร้าวแก่มาก เนื้อมะพร้าวจะดูดเอาน้ำมะพร้าวไปหมด น้ำมะพร้าว ถ้าจะให้ดีควรกินสด ๆ เปิดลูกแล้วควรดื่มเลย ไม่ควรทิ้งไว้หรือเก็บไว้ในตู้เย็นนานเกินครึ่งชั่วโมง หากดื่มทันทีจะทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด แต่ควรระวังเรื่องสารฟอกขาวไว้ด้วย ซื้อมาจากสวนโดยตรงก็จะดีและปลอดภัยมาก และสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือเป็นโรคไตควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมะพร้าว มะพร้าวกับความเชื่อ มีความเชื่อว่าการปลูกต้นมะพร้าวทางทิศตะวันออกของบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วย และยังเป็นมิ่งขวัญสำหรับคนเกิดปีชวดและปีเถาะอีกด้วย ส่วนในพิธีกรรมทางศาสนาจะจัดให้มีเครื่องสังเวยเป็นมะพร้าวอ่อน เพราะเชื่อว่าเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ การดื่มน้ำมะพร้าวก็เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ยังใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพอีกด้วย เพราะมีความเชื่อว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ ทำให้ผู้ตายเกิดความผ่องใส สงบจิตใจลงได้ และเดินทางไปยังภพภูมิหน้าได้อย่างเป็นสุข (อ้อ มะพร้าวยิ่งต้นสูงเท่าไหร่ น้ำก็ยิ่งสะอาดมากขึ้นเท่านั้น) สรรพคุณของมะพร้าว 1. น้ำมะพร้าวช่วยทำให้ผิวพรรณสดใส เปล่งปลั่ง ขาวนวลขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ (น้ำมะพร้าว)ยอดอ่อนมะพร้าว 2. น้ำมะพร้าวมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน ซึ่งทำให้ผิวมีความยืดหยุ่น กระชับ ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยได้เป็นอย่างดี (น้ำมะพร้าว) 3. ประโยชน์ของน้ำมะพร้าว มีส่วนช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์ได้เป็นอย่างดี (น้ำมะพร้าว) 4. ในเนื้อและน้ำมันมะพร้าวอ่อนมีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับร่างกายอย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี วิตามินบี กรดอะมิโน ธาตุแคลเซียม ธาตุแมกนีเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโพแทสเซียม ธาตุเหล็ก และยังมีไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมได้ภายใน 5 นาที (น้ำมะพร้าว) 5. น้ำมะพร้าวมีประโยชน์ใช้เป็นเครื่องดื่มจากธรรมชาติที่ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นและไม่มีอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย (ยกเว้นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและโรคไต) 6. น้ำมะพร้าวเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็นจึงช่วยดับร้อนในร่างกายได้เป็นอย่างดี (น้ำมะพร้าว)

 

 

 

 


มะยมป่า

ชื่ออังกฤษ : Star gooseberry

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ailanthus triphysa (Dennst.) Alston

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ลำต้น มะยมป่ามีลักษณะของทรงพุ่มโปร่งสูง หรือค่อนข้างกลม ลำต้นตรง มีความสูงประมาณ 20-45 เมตร เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบหรืออาจแตกเป็นร่อง มีสีน้ำตาลอมดำ กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุมอยู่ทั่ว ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเป็นช่อเรียงสลับกันอยู่ที่บริเวณปลายกิ่ง ช่อใบยาวประมาณ 15-45 ซม. ส่วนก้านช่อใบแต่ละก้านยาวประมาณ 4-9 ซม. ซึ่งในแต่ละก้านจะประกอบไปด้วยใบย่อยรูปหอก หรือรูปไข่ ประมาณ 10-30 ใบ เรียงตรงกันข้าม ใบย่อยมีความกว้างประมาณ 2-4 ซม. ยาวประมาณ 4-11 ซม. มีลักษณะบิดโค้งเล็กน้อย ปลายใบแหลมเป็นติ่ง แผ่นใบเรียบเป็นมัน มีสีเขียว ด้านบนของใบจะมีสีที่เข้มกว่าด้านล่าง ใบย่อยมีเส้นแขนงประมาณ 8-20 คู่ ก้านใบย่อยมีความยาวประมาณ 0.3-0.5 ซม. ตามเส้นใบและใบอ่อนจะมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ดอก ออกเป็นช่อแยกแขนงบริเวณง่ามใบที่ปลายกิ่ง ช่อดอกมีความยาวประมาณ 20-50 ซม. มีขนสีน้ำตาลปกคลุมอยู่ทั้งช่อ ดอกย่อยมีสีเหลืองอมเขียวขนาดเล็ก มีกลีบดอก 5 กลีบ มีกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมส่วนปลายแยกออกเป็น 5 แฉก มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียจะแยกอยู่คนละต้น มีเกสรตัวผู้ 10 อัน เกสรตัวเมีย 2-5 อัน เริ่มติดดอกในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ผล ลักษณะของผลแบนเป็นรูปหอกคล้ายฝัก ขนาดของผลที่โตเต็มที่มีความกว้างประมาณ 1-1.5 ซม. ยาวประมาณ 5-8 ซม. ผลอ่อนเป็นสีชมพู มีลาย มีปีกบางๆ ห่อหุ้มอยู่ ภายในผลมีเมล็ดแบนๆ อยู่เพียง 1 เมล็ด ติดผลในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ประโยชน์ ยอดอ่อน-ใช้รับประทานเป็นผักสด เปลือกต้น-ใช้เป็นยาแก้ไข้ ใช้บำรุงสตรีหลังคลอด ใบ-ใช้รักษาโรคกระเพาะ ยาง-เผาสกัดทำเป็นเครื่องหอมต่างๆ เนื้อไม้-มีความอ่อน และเหนียว ใช้ทำเป็นอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กล่องไม้ขีด หีบใส่ของ ไม้บรรทัด ไม้อัด เยื่อกระดาษ แบบคอนกรีต หรือทำเป็นถ่าน