โซนพืชตระกูลส้ม – TH
โซนพืชตระกูลส้ม

ประกอบไปด้วยพืชต่างๆดังนี้
ต้นเขยตาย
ชื่ออังกฤษ : Lay down tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Glycosmis pentaphylla
ต้นเขยตาย จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 2-4 เมตร แตกกิ่งก้านต่ำตั้งแต่โคนต้นเป็นพุ่มเตี้ย ลำต้นเป็นเหลี่ยม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมเทา ผิวลำต้นตกกระเป็นวงสีขาว ใบออกดกทึบ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ เป็นพืชในเขตร้อนของทวีปเอเชียและออสเตรเลีย พบได้ในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ประเทศในแถบคาบสมุทรอินโดจีน สุมาตราและชวา ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ตามชายป่าและหมู่บ้าน สรรพคุณของเขยตาย
1. ใบใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้เบาหวาน (ใบ)
2. รากมีรสเมาขื่นปร่า ใช้เป็นยาแก้ไข้กาฬ ไข้รากสาด และเป็นยาลดไข้ (ราก)
3. รากและใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ แก้ไข้ (ราก, ใบ)
4. รากและใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคบิดท้องเดิน (ราก, ใบ)
5. ในบังกลาเทศจะใช้น้ำคั้นจากใบผสมกับน้ำตาล ใช้กินตอนท้องว่างเพื่อถ่ายพยาธิตัวกลม แก้ไข้ (ใบ)
6. เนื้อไม้ เปลือกต้น และราก มีสรรพคุณเป็นยาขับน้ำนม (เนื้อไม้, เปลือกต้น, ราก)
ไฟล
ชื่ออังกฤษ : Phlai,
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber montanum
ต้นไพล ลักษณะไพลเป็นไม้ล้มลุกมีความสูงประมาณ 0.7-1.5 เมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เปลือกมีสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อด้านในมีสีเหลืองถึงสีเหลืองแกมเขียว แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ โดยจะประกอบไปด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกันอยู่ เหง้าไพลสดฉ่ำน้ำ รสฝาด เอียด ร้อนซ่า มีกลิ่นเฉพาะ ส่วนเหง้าไพลแก่สดและแห้งจะมีรสเผ็ดเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด แง่ง หรือเหง้า แต่โดยทั่วไปแล้วจะใช้ส่วนของเหง้าเป็นท่อนพันธุ์ในการเพาะปลูก พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียแถบประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ปลูกกันมากในจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว
กระทือ
ชื่ออังกฤษ : Shampoo ginger, Wild ginger
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber zerumbet
ต้นกระทือ เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ต่อมาภายหลังได้แพร่กระจายมายังทวีปเอเชียรวมถึงประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นอยู่เหนือดินสูงราว 0.9-1.5 เมตร และมีเหง้าอยู่ใต้ดินเรียกว่า “เหง้ากระทือ” หรือ “หัวกระทือ” เปลือกนอกของเหง้ามีสีน้ำตาลแกมเหลือง ส่วนเนื้อในมีสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม มีรสขม ขื่น ปร่า และเผ็ดเล็กน้อย ต้นจะโทรมในหน้าแล้งแล้วจะงอกขึ้นใหม่ในหน้าฝน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เหง้าหรือที่เรียกว่าหัว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ในที่ที่มีความชื้นพอสมควร และมีแสงแดดส่องตลอดวัน พบขึ้นมากทางภาคใต้ ตามป่าดงดิบ ริมลำธารหรือชายป่า
ขมิ้นขาว
ชื่ออังกฤษ : Turmeric
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma mangga Valeton & Zijp
ขมิ้นขาวเป็นพืชในวงศ์ ZINGIBERACEAE จัดอยู่ในสกุลเดียวกันกับขมิ้นชัน ลักษณะของขมิ้นขาว ขมิ้นขาวมีหัวรูปไข่ ขนาดประมาณ 3-4 x 2-3 เซนติเมตร ภายในมีสีขาวบริเวณแกนกลาง หัวมีสีเหลืองอ่อนจนเกือบขาว เหง้าแตกสาขา หนาประมาณ 1.5 เซนติเมตร ขนาดของลำต้นขมิ้นขาวสูงประมาณ 40-80 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว กว้าง 12-15 เซนติเมตร ยาว 30-40 เซนติเมตร ก้านยาวหุ้มต้น ดอกสีเหลืองอ่อน กลีบประดับสีเขียวอมชมพูซ้อนทับกันหลายกลีบ ดอกขมิ้นขาวจะออกเป็นช่อ ก้านช่อยาวแทงจากเหง้าใต้ดิน มักออกดอกในช่วงฤดูฝน
ขมิ้นชัน
ชื่ออังกฤษ : Turmeric
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma longa L.
ขมิ้น เป็นพืชล้มลุกที่จัดอยู่ในตระกูลขิง มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในของเหง้าจะเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีตั้งแต่สีเหลืองเข้มจนถึงสีแสดจัด โดยถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีชื่ออื่น ๆ อีก เช่น ขมิ้นชัน ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว ขี้มิ้น หมิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละภาคและจังหวัดนั้น ๆ นิยมนำไปใช้ในการประกอบอาหาร แต่งสี แต่งกลิ่นอาหาร เช่น แกงไตปลา แกงกะหรี่ เป็นต้น ขมิ้นชันอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี วิตามินอี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และเกลือแร่ต่าง ๆ รวมไปถึงเส้นใย คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน เป็นต้น และขมิ้นชันมีสรรพคุณทางยาที่รักษาอาการและโรคต่าง ๆ ได้หลายชนิด มีประวัติในการนำมาใช้ในการรักษามากกว่า 5,000 ปี
ข่า
ชื่ออังกฤษ : Galangal
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpinia galanga
จัดอยู่ในวงศ์ ZINGIBERACEAE เช่นเดียวกับกระชาย กระชายดำ กระชายแดง กระวาน กระวานเทศ ขิง ขมิ้น เร่ว เปราะป่า เปราะหอม ว่านนางคำ และว่านรากราคะ นอกจากนี้ข่ายังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ อีก เช่น สะเอเชย เสะเออเคย (แม่ฮ่องสอน), ข่าหยวก (ภาคเหนือ), ข่าหลวง (ภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กฎุกกโรหินี (ภาคกลาง) เป็นต้น ข่าเป็นพืชที่มีลำต้นอยู่ใต้ดิน (เหง้า) และยังประกอบไปด้วย ใบ ดอก ผล และเมล็ด โดยจัดอยู่ในตระกูลขิง เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่บ้านเราและอินโดนีเซียนิยมนำมาใช้ในการประกอบอาหารต่าง ๆ ใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อช่วยแต่งกลิ่นอาหาร ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงหรือน้ำพริกต่าง ๆ ใช้ปรุงรสในอาหารต่าง ๆ อย่างต้มข่า ต้มยำ ผัดเผ็ด เป็นต้น นอกจากนี้ดอกและลำต้นอ่อนยังใช้รับประทานเป็นผักสดได้อีกด้วย
ขิง
ชื่ออังกฤษ : Ginge
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber officinale
ขิงจัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกายของเรา เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ธาตุเหล็ก ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส แถมยังมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเส้นใยจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งประโยชน์ของขิงนั้น เราสามารถนำมาใช้ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นราก เหง้า ต้น ใบ ดอก แก่น และผลก็ได้ทั้งนั้น ประโยชน์ของขิง
1. แก้อาการเมารถเมาเรือ
2. แก้ปัญหาผมขาดร่วง
3. ช่วยลดอาการท้องอืด
4. บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน
5. บรรเทาอาการไมเกรน
ชมพู่มะเหมี่ยว
ชื่ออังกฤษ : Rose apple
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium malaccense
ชมพู่มะเหมี่ยว เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Myrtaceae ลำต้นตรง ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ใบหนาและเหนียว เมื่ออ่อนเป็นสีแดง ก้านใบยาว ดอกดอกเฉพาะกิ่งที่ไม่มีใบ ดอกสีแดง กลีบเลี้ยงเป็นหลอดบวมพอง เกสรตัวผู้สีแดงจำนวนมาก ผลสดมีเนื้อหลายเมล็ด ผลคล้ายลูกแพร์ มีกลีบเลี้ยงติดที่ปลายผล ผลสีแดงเข้มหรือเหลืองอมม่วงหรือขาวอมเหลือง เนื้อฉ่ำน้ำ สีขาว มีกลิ่นหอม เมล็ดกลม สีน้ำตาล การกระจายพันธุ์พบมากในคาบสมุทรมลายู เกาะชวา เกาะสุมาตรา ผลใช้รับประทานสด ทำอาหารคาวเช่นยำโดยใช้เกสร เมื่อ แก่แล้วยังมีรสเปรี้ยว นิยมนำไปต้มรวมกับผลไม้อื่น ๆ ให้มีรสเปรี้ยวน้อยลง สรรพคุณ เปลือกลำต้น ใบและรากมีสรรพคุณเป็นยา รสชุ่มคอ มีวิตามินซี และแคลเซียมสูง เสริมสร้างกระดูกและฟัน
ต้นชำมะเลียง
ชื่ออังกฤษ : Luna nut
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lepisanthes fruticosa
ต้นชำมะเลียง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 4-7 เมตรและสูงได้ถึง 8 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นร่อง ๆ ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อน มีขนสีน้ำตาล ชำมะเลียงเป็นพันธุ์ไม้ผลพื้นเมืองที่ขยายพันธุ์ได้ง่าย ทนทานต่อโรคและแมลงได้ดี โดยขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ในดินเค็ม มีการแพร่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ ตามป่าโปร่ง ตามแนวชายป่า หรือริมลำธาร ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1,000 เมตร และพบได้มากในแถบพื้นที่ชายทะเล พบได้ในทุกภาคของประเทศ แต่จะพบได้มากในภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ สรรพคุณของชำมะเลียง 1. รากมีรสเบื่อจืดและขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้ไข้ ใช้กินแก้ไข้เหนือ ไข้กาฬ ไข้พิษ ไข้สันนิบาต ไข้สั่น ไข้กำเดา (ราก) 2. แก้เลือดกำเดาไหล (ราก) 3. ช่วยแก้อาการร้อนใน (ราก) 4. ช่วยแก้อาการกระสับกระส่าย แก้ระส่ำระสาย (ราก) 5. ช่วยทำให้ระบบทางเดินอาหารเป็นปกติ (ราก)
ต้นตะขบป่า
ชื่ออังกฤษ : Ramontchi
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Flacourtia indica
ต้นตะขบป่า จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 2-15 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง ปลายกิ่งโค้งลง ตามลำต้นและกิ่งใหญ่จะมีหนามแหลม กิ่งอ่อนจะมีหนามแหลมตามซอกใบ หนามยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ส่วนกิ่งแก่ ๆ มักจะไม่มีหนาม เปลือกต้นเป็นสีเหลืองอมเทาแตกเป็นร่องลึก มีช่องอากาศรูปรีกระจายแบบห่าง ๆ พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ และตามป่าชายหาด ตลอดจนตามริมแม่น้ำ ชอบพื้นที่กลางแจ้ง ทนแล้งและน้ำท่วมขังได้ดี ประโยชน์ของตะขบป่า 1. ผลสุกมีรสหวานอมฝาด ใช้รับประทานได้ มีวิตามินซีสูง 2. เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ใช้เป็นโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้าน เช่น เสาบ้าน ฯลฯ หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือกสิกรรม 3. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ให้ร่มเงา
ต้นพะยอม
ชื่ออังกฤษ : White Meranti
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea roxburghii
ต้นพะยอม มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเอเชีย เช่น ประเทศพม่า ลาว ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ มีความสูงประมาณ 15-20 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นอาจยาวถึง 300 เซนติเมตร เปลือกต้นมีสีน้ำตาลหรือสีเทาเข้ม แตกเป็นร่องตามยาวและเป็นสะเก็ดหนา ส่วนเนื้อไม้มีสีเหลืองถึงสีน้ำตาล ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มกลมสวยงามมาก แตกกิ่งก้านจำนวนมาก ถ้าหากปลูกในที่โล่งแจ้งและไม่มีพรรณไม้ใหญ่ชนิดอื่นอยู่ใกล้ ๆ เป็นต้นไม้ที่สวยโดยธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องทำการตัดแต่งกิ่งแต่อย่างใด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง ซึ่งในปัจจุบันพันธุ์ไม้ชนิดนี้กำลังเริ่มลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ โดยสามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณแล้งและชื้น หรือป่าดิบแล้งทั่วไป ทุกภาคของประเทศที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 60-1,200 เมตร และดอกพะยอมยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ด้วย สรรพคุณของพะยอม 1. พยอม สรรพคุณของดอกช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก) 2. สรรพคุณสมุนไพรพยอม ดอกใช้ผสมเป็นยาแก้ไข้ (ดอก) 3. ดอกใช้ทำเป็นยาหอมไว้แก้ลม (ดอก) 4. สรรพคุณต้นพยอมช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน (เปลือกต้น)
มะข้ามป้อม
ชื่ออังกฤษ : Indian Gooseberry
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus emblica
มะขามป้อม เป็นต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ Phyllanthaceae เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง และมีคุณค่าทางสมุนไพรด้วย มะขามป้อมเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสระแก้ว มีชื่อพื้นเมืองอื่นอีกคือ กันโตด (เขมร – กาญจนบุรี) กำทวด (ราชบุรี) มะขามป้อม (ทั่วไป) มั่งลู่, สันยาส่า (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน) มะขามป้อมจัดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงที่สุด ในบรรดาผลไม้ทั้งหมด เพราะมะขามป้อมลูกเล็กๆเพียงลูกเดียว ให้วิตามินซีสูงกว่าวิตามินซีสังเคราะห์ถึง 12 เท่า และมากกว่าน้ำส้มคั้นถึง20 เท่า เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก-กลาง สูง 8-12 เมตร ลำต้นมักคดงอ เปลือกนอกสีน้ำตาลอบเทา ผิวเรียบหรือค่อนข้างเรียบ เปลือกในสีชมพูสด ใบเดี่ยว มีลักษณะคล้ายใบประกอบคล้ายใบมะขาม รูปขอบขนานติดเรียงสลับ กว้าง 0.25-0.5 ซม.ยาว 0.8-12 ซม. สีเขียวอ่อนเรียงชิดกัน ใบสั้นมาก เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ดอกขนาดเล็กแยกเพศ แต่อยู่บนกิ่งหรือต้นเดียวกัน ออกตามง่ามใบ 3-5 ดอกแน่น ตามปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 6 กลีบ ดอกสีขาวหรือขาวนวล ผลทรงกลมมีเนื้อหนา 1.2-2 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน ผลแก่มีเขียวอ่อนค่อนข้างใส มีเส้นริ้วๆ ตามยาว สังเกตได้ 6 เส้น เนื้อผลรับประทานได้มีรสฝาดเปรี้ยว ขมและอมหวาน
มะนาว
ชื่ออังกฤษ : lemon
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus aurantiifolia (Christm.) Swingle
เหมากับการนำมาปรุงรสอาหาร ทำให้รสชาติกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น มะนาวเป็นพืชที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน มีต้นกำเนิดอยู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถมยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้ประเทศ เพราะมีรสชาติที่ใคร ๆ ก็ติใจเมื่อนำไปปรุงอาหาร เรียกได้ว่า มีติดครัวกันแทบทุกบ้าน นอกจากรสชาติเปรี้ยว ที่ไว้ใช้ในการปรุงรสของอาหารแล้ว มะนาว ยังมีสรรพคุณทั้งทางยา และการรักษาผิว และรูปร่างได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้มะนาว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ไม่ว่าจะราก ใบ ดอก เมล็ด เปลือก ต่างก็มีสรรพคุณคุณทางยามากมาย ถือว่าเป็นยาอายุวัฒนะชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะน้ำมะนาวนั้น ยังช่วยดูแลผิวพรรณให้ผุดผ่อง ช่วยให้รูปร่างสมส่วน ใช้ทำความสะอาดเครื่องเรือนและ ยังช่วยเจริญอาหารอีกด้วย สรรพคุณทางยาของมะนาว ในมะนาวนั้นจะมีทั้งวิตามิน และกรดต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการรักษาอาการ และยับยั้งเชื้อโรคหลายชนิด ด้วยความที่มีวิตามินซีสูง จึงช่วยรักษาอาการ โรคลักปิดลักเปิด หรือโรคเลือดออกตาไรฟัน ขับเสมหะ ลดอาการไอ บรรเทาอาการต่อมทอนซิลอักเสบ ลดอาการเหงือกบวม และยังช่วยขับพยาธิ รักษาอาการท้องอืด ท้องผูก แน่นท้อง รักษาอาการปัสสาวะกระปริบกระปรอย ช่วยฟอกและบำรุงโลหิตรักษาอาการโลหิตจาง แก้โรคเหน็บชา
มะนาวยักษ์
ชื่ออังกฤษ : Giant lemon
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus aurantiifolia (Christm.) Swingle
เป็นพันธุ์ไม้โบราณที่หายาก มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ชอบดินร่วนปนทราย ไม่ชอบที่ชื้นแฉะ สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง ต้นสูงประมาณ 3-10 เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนาม ใบใหญ่และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ผลกลมใหญ่ ผิวเรียบเปลือกหนา ดอกมีสีขาวอมม่วง มีกลิ่นหอม ผลสุกมีสีเหลืองมะนาว ขนาดผลใหญ่เท่าผลส้มโอ น้ำหนักตั้งแต่ 1 กิโลกรัม ขึ้นไป มีรสเปรี้ยวและหอมคล้ายน้ำมะนาว แต่รสอ่อนกว่ามะนาวเล็กน้อย ใช้ปรุงอาหารแทนน้ำมะนาวได้ดี มีสรรพคุณทางยา
มะม่วงหาวมะนาวโห่
ชื่ออังกฤษ : Bengal-Currants
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carissa carandas L.
มะม่วงหาวมะนาวโห่ จัดเป็นผลไม้สมุนไพรชนิดหนึ่ง ลักษณะของผลจะมีสีแดงเรียวเล็กคล้ายกับมะเขือเทศราชินี สำหรับรสชาติของผลสุกจะออกหวานนุ่มลิ้น แต่ถ้ายังไม่สุกจะมีรสเปรี้ยวจี๊ดเข็ดฟัน มีธาตุเหล็กและวิตามินซีสูง เมื่อกัดไปแล้วจะมียางเหนียว ๆ ฝาดคอ ประโยชน์ของมะม่วงหาวมะนาวโห่ • น้ำของผลสามารถนำมาใช้ปรุงอาหารแทนมะนาวได้ • ใช้ทำเป็นผลไม้หมักดอง • นำมาประกอบอาหารได้หลายเมนู เช่น ผัดไทยเต้าหู้มะนาวโห่ น้ำพริกเผามะนาวโห่ ฟรุ้ตตี้ลืมหาว เป็นต้น
ว่านมหาเมฆ (ขมิ้นดำ)
ชื่ออังกฤษ : Bring up evil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma aeruginosa
ว่านมหาเมฆ จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) ว่านมหาเมฆ มีชื่อเรียกอื่นว่า ขมิ้นดำ ว่านขมิ้นดำ (เชียงใหม่), กระเจียวแดง, มหาเมฆ, อาวแดง, ขิงเนื้อดำ, ขิงดำ, ขิงสีน้ำเงิน, เหวินจู๋ เอ๋อจู๋ (จีนกลาง) เป็นต้น ต้นว่านมหาเมฆ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีความสูงได้ประมาณ 80-150 เซนติเมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะของเหง้าเป็นสีเหลืองอมเขียวอ่อน หรือเป็นสีม่วงอมน้ำเงิน จึงมีคนเรียกว่า “ขิงดำ” หรือ “ขิงสีน้ำเงิน” ความยาวของเหง้ามีขนาดประมาณ 12 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร หัวหรือเหง้าเมื่อเก็บไว้นานหลายปีจะเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีเหลือง พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี มักขึ้นตามดินทราย ทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ และในป่าราบทั่วไปทั่วทุกภาคของประเทศ
ส้มโอ
ชื่ออังกฤษ : Pomelo
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus maxima
จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE) ส้มโอเป็นผลไม้ที่มีต้นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศนั้นจะปลูกส้มโอมากในภาคตะวันตกและยังจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยเราอีกด้วย สำหรับชาวจีนแล้ว ส้มโอถือว่าเป็นเครื่องสังเวยที่สำคัญอย่างมาก เพราะมีความเชื่อว่าหลังจากไหว้เสร็จ ถ้าผ่าผลส้มโอออกมาแล้วกลางลูกแห้ง ไม่มีน้ำ จะสื่อความหมายถึงความโชคดี นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของชาวจีนที่เสียชีวิตในการกู้ชาติอีกด้วย ส้มโอจัดเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์หลากหลายและยังมีสรรพคุณทางยาในการรักษาโรคต่าง ๆ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินซีซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระในปริมาณมาก และยังมีวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆที่จำเป็นต่อร่างกายอีกหลายชนิด โดยส่วนที่จะนำมาใช้ประโยชน์ก็มีหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นผล เปลือก ใบ และเมล็ด ก็ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปลือกและผลซึ่งเป็นส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด
ส้มป่อย
ชื่ออังกฤษ : Soap Pod
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia concinna
ต้นส้มป่อย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่มรอเลื้อยทอดลำต้นเกาะเกี่ยวขึ้นไป สูงได้ประมาณ 3-6 เมตร แต่ไม่มีมือสำหรับเกาะเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น เถามีเนื้อแข็ง ขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล เถาอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง มีขนกำมะหยี่หรือขนสั้นหนานุ่ม ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมสั้นอยู่ทั่วไปและมีขนหูใบรูปหัวใจ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภทที่ระบายน้ำได้ดี ชอบความชื้นปานกลางถึงน้อย และชอบแสงแดดมาก ขึ้นทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เป็นไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี มักพบขึ้นตามป่าคืนสภาพ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ที่ราบเชิงเขา และที่รกร้างทั่วไป สรรพคุณ ราก รสขม แก้ไข้ แก้ท้องร่วง ต้น รสเปรี้ยวฝาด แก้ตาพิการ ใบ รสเปรี้ยวฝาดเล็กน้อย ขับเสมหะ ถ่ายระดูขาวหรือเมือกในช่องคลอด ล้างเมือกมันในลำไส้ แก้บิด ฟอกโลหิตระดู แก้โรคตา ฝัก รสเปรี้ยว เป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ ทำให้อาเจียน แก้น้ำลายเหนียว แก้โรคผิวหนัง ช่วยขจัดรังแคและบำรุงเส้นผม เปลือกฝัก รสขมเปรี้ยวและเผ็ดปร่า เจริญอาหารกัดเสมหะ แก้ไอ แก้ซางเด็ก ดอก รสเปรี้ยว ฝาดและมัน แก้เส้นเอ็นพิการให้สมบูรณ์