ไม้น้ำ – TH

ประกอบไปด้วยพืชต่างๆดังนี้

 

เหรียง

ชื่ออังกฤษ : Nitta tree

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parkia timoriana

เหรียง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในหมู่เกาะติมอร์และในแถบเอเชียเขตร้อน ซึ่งไล่ตั้งแต่ประเทศอินเดียไปจนถึงประเทศปาปัวนิวกินี ส่วนในประเทศไทยนั้นจะพบขึ้นได้ทั่วไปทางภาคใต้ ไล่ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป โดยมักขึ้นตามป่าดิบชื้น ในระดับพื้นที่ต่ำไปจนถึงพื้นที่สูงถึง 100 เมตรจากระดับ น้ำทะเล แต่อาจมีบ้างที่เจริญเติบโตในระดับความสูงไม่เกิน 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ต้นเหรียง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีลำต้นเป็นเปลาตรง มีความสูงได้ถึง 50 เมตร มีพูพอนสูงถึง 6 เมตร ลักษณะโดยทั่วไปจะคล้ายคลึงกับสะตอ แต่จะแตกต่างกันตรงที่พุ่มใบของต้นเหรียงมักจะเป็นพุ่มกลม ไม่แผ่กว้างมากนัก และมีพุ่มใบแน่นเป็นสีเขียวทึบกว่าพุ่มใบของสะตอ เปลือกต้นเรียบ ที่กิ่งก้านมีขนปกคลุมขึ้นอยู่ประปราย และเป็นต้นไม้ที่ชอบแสงสว่างและ พื้นที่ค่อนข้างชุ่มชื้น มักจะเริ่มผลัดใบในช่วงที่ออกช่อดอก และใบจะหลุดร่วงจนหมดต้นเมื่อผลเริ่มแก่พร้อม ๆ ไปกับใบอ่อนที่จะเริ่มผลิออกมาใหม่ ส่วนวิธีการปลูกต้น หรียงจะนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดเป็นหลัก นอกจากนี้ยังสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่น ๆ ได้อีก เช่น การตัดกิ่งปักชำและการติดตา แต่ไม่เป็นที่นิยม

 

 

เอื้องหมายนา

ชื่ออังกฤษ : Crape ginger, Malay ginger, Spiral Flag, Wild ginger

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cheilocostus speciosus

ต้นเอื้องหมายนา มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงเกาะนิวกินี จัดเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าอยู่ใต้ดิน มักขึ้นเป็นกอ ๆ มีความสูงของต้นประมาณ 1-3 เมตร ไม่แตกกิ่งก้านสาขา ลำต้นกลมฉ่ำน้ำและเป็นสีแดง วัดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร รากเป็นหัวใหญ่ยาว ที่โคนแข็งเหมือนไม้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการแตกหน่อ เจริญเติบโตได้ดีร่วนระบายน้ำดี ต้องการน้ำค่อนข้างมาก ควรปลูกในที่มีแสงแดดร่มรำไร มักพบขึ้นตามบริเวณที่มีความชุ่มชื้น ใต้ต้นไม้ใหญ่ ตามน้ำตก ชายน้ำ ริมทางน้ำ ริมหนองบึง ตามบริเวณเชิงเขา และป่าดิบชื้นทั่วทุกภาคของประเทศ ที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 87-126 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบได้ตั้งแต่อินเดียตะวันออกจนถึงคาบสมุทรอินโดจีน

 

 

แจง

ชื่ออังกฤษ : Parse

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crateva mucronulata Kuntze, Niebuhria siamensis Kurz

สมุนไพรแจง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แกง (นครราชสีมา), แก้ง แจ้ง เป็นต้น ต้นแจง หรือ ต้นแกง มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ พบได้บ้างที่เป็นไม้พุ่มเตี้ย ๆ เป็นพรรณไม้โตช้า มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งแขนงมากมายคล้ายกับไม้พุ่ม กิ่งก้านแตกออกแผ่เป็นรูปร่ม เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเข้มจนเกือบดำ เปลือกเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการตอนกิ่ง สามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด พบขึ้นได้ในป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรังแล้ง ป่าโปร่งแห้ง เขาหินปูน ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 0-400 เมตร โดยจะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

 

โหระพา

ชื่ออังกฤษ : Sweet basil, Thai basil

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum basilicum

จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE) มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียและแอฟริกา เป็นพืชพื้นเมืองของอินเดีย แต่แพร่หลายในเอเชียและตะวันตก โหระพาเป็นพืชสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม นิยมอย่างมากในการนำมาประกอบอาหารและแต่งกลิ่นของรสชาติให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น โหระพา สรรพคุณนั้นมีมากมายแต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ามันมีประโยชน์อย่างไร โดยโหระพา 1 ขีด มีเบต้าแคโรทีนสูงถึง 452.16 ไมโครกรัม ซึ่งสามารถช่วยป้องกันโรคหัวใจ และยังมีวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ด้วย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก รวมไปถึงคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เป็นต้น โดยสรรพคุณของโหระพาที่เรานำมาใช้ในการรักษาโรคหลัก ๆ แล้วจะใช้แค่ใบและน้ำมันสกัดจากใบโหระพาเป็นหลัก แต่ส่วนอื่น ๆ ก็ใช้ได้เหมือนกันไม่ว่าจะเป็น ราก ลำต้น ก็ถือว่ามีประโยชน์แทบทั้งสิ้น

 

 

กระท้อนป่า

ชื่ออังกฤษ : Santol

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spathodea campanulata P.Beauv

ลักษณะ: ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงถึง 45 ม. ลำต้นแตกเป็นร่อง บางครั้งพบมีพูพอนสูงถึง 3 ม. เปลือกสีน้ำตาลชมพูอ่อน เรียบ มีช่องอากาศ หรือเปลือกลอกออกเป็นแผ่นกลม เรือนยอดเป็นรูปโดม เปลือกลำต้นชั้นนอกมีสีเทา มีจุดสีขาวเป็นวงบริเวณลำต้น ผิวเรียบ เปลือกไม่หลุดออก มียางสีแดงหรือสีน้ำตาล ใบ ใบเรียงสลับ ใบประกอบแบบนิ้วมือ มี 3 ใบย่อย ใบย่อยรูปไข่หรือรูปรี โคนใบกลมหรือมน ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่น ผิวใบเป็นคลื่น มีไขนวลปกคลุม ด้านล่างเส้นใบนูนเด่น ใบมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเหลือง แล้วค่อยๆ แดง แล้วจะร่วงหล่น ก้านใบมน ดอก เป็นช่อตั้ง เกิดตามปลายกิ่ง ผล ผลเดี่ยวแบบผลสดมีขนกำมะหยี่ เมื่อแก่มีสีเขียวเข้ม เมื่อสุกมีสีเหลือง ผิวขรุขระ เนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำ รสหวานอมเปรี้ยว เมล็ดกลมรี มีเยื่อหุ้มสีขาว เกิดมาจากเปลือก สรรพคุณ ราก (สุมเป็นถ่าน) รสฝาดเย็น ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้รากสาด แก้บิด แก้ท้องร่วง หรือตำกับน้ำและน้ำส้มสายชู ดื่มแก้ท้องเดิน และช่วยขับลม ใช้ผสมยามหานิล มหากาฬ เป็นส่วนประกอบในยาสมุนไพรรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพรอื่นๆ เช่น รากมะพร้าวไฟ รากข่อย รากมะโจ้ก รากฝรั่ง รากทับทิม นำทั้งหมดมาต้มน้ำดื่ม ใบ ผสมน้ำต้มอาบขับเหงื่อ แก้ไข้ รักษาโรคผิวหนัง

 

 

การะเกด

ชื่ออังกฤษ : Screwpine

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Pandanus tectorius Parkinson ex Du Roi

ต้นการะเกด จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้น ลำต้นมักแตกกิ่งก้านสาขา มีรูปทรงคล้ายต้นเตย สูงได้ประมาณ 3-7 เมตร มีรากอากาศค่อนข้างยาวและใหญ่ มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน และนำไปปลูกกันทั่วไป ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะหรือริมน้ำ ดินทรายชายทะเล ลำห้วย ริมลำธาร สามารถพบขึ้นได้ตามชายหาดและพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล

 

 

ชะมวง

ชื่ออังกฤษ : Chamuang

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia cowa

ต้นชะมวง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำทรงสูง มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร บ้างว่าสูงประมาณ 15-30 เมตร ลำต้นเกลี้ยงและแตกกิ่งใบตอนบนของลำต้น กิ่งย่อยผิวเรียบ เปลือกลำต้นเป็นสีดำน้ำตาลมีลักษณะขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีชมพูถึงแดง มีน้ำยางสีเหลืองขุ่นไหลเยิ้มออกมาจากเปลือกต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง พบทั่วไปตามป่าชื้นที่ระดับต่ำ เป็นไม้ที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี มีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นตามที่ลุ่มต่ำทั่วไป และจะพบได้มากทางภาคใต้ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตรขึ้นไป (บ้างว่า 600 เมตรขึ้นไป)

 

 

โพธิ์

ชื่ออังกฤษ : Sacred fig

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus religiosa

โพธิ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สลี (ภาคเหนือ), สี สะหลี (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), โพ โพธิ โพศรีมหาโพ (ภาคกลาง), ย่อง (แม่ฮ่องสอน), ปู (เขมร), โพธิใบ เป็นต้น[1],[2],[3] ในปัจจุบันต้นโพธิ์เป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดปราจีนบุรี ลักษณะของต้นโพธิ์ ต้นโพธิ์ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ผลัดใบ แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นพุ่มตรงส่วนยอดของลำต้น ปลายกิ่งลู่ลง กิ่งอ่อนเกลี้ยง ตามกิ่งมีรากอากาศห้อยลงมาบ้าง ลำต้นมีความสูงประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 เมตร และมีน้ำยางสีขาว เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลปนเทา โคนต้นเป็นพูพอนขนาดใหญ่ โดยจัดเป็นพรรณไม้ที่มีรูปทรงของลำต้นส่วนงามชนิดหนึ่ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ใช้กิ่งชำ หรือใช้กระโดงจากราก แต่ส่วนมากแล้วจะเจริญเติบโตจากสัตว์นำพา เช่น นกมากินเมล็ดและไปถ่ายทิ้งไว้ ก็จะเกิดเป็นต้นใหม่ขึ้นมา เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ต้องการน้ำปานกลาง พบขึ้นทั่วไปทั้งในทวีปเอเชีย ปากีสถาน จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบในธรรมชาติน้อยมาก เข้าใจว่ากระจายพันธุ์มาจากต้นที่มีการนำมาปลูกเอง และพบขึ้นมากตามซากอาคาร และนิยมปลูกกันทั่วไปในวัดทุกภาคของประเทศไทย

 

 

นนทรี

ชื่ออังกฤษ : Copper pod

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Peltophorum pterocarpum

นนทรี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สารเงิน (แม่ฮ่องสอน), กระถินป่ากระถินแดง (ตราด), นนทรีบ้าน เป็นต้น ต้นนนทรีเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดนนทบุรีและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลักษณะของนนทรี ต้นนนทรี เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมไปถึงประเทศศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยไปจนถึงประเทศฟิลิปปินส์ และทวีปออสเตรเลียตอนเหนือ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทรงเรือนยอดแผ่กว้างเป็นรูปร่มหรือเป็นทรงกลมกลาย ๆ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมสีดำ เปลือกค่อนข้างเรียบ และอาจแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ตามกิ่งก้านอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดงปกคลุมอยู่ ส่วนกิ่งแก่เกลี้ยง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลางและแสงแดดเต็มวัน เป็นต้นไม้ที่มักผลัดใบเมื่อมีอากาศแห้งแล้ง ชอบขึ้นตามป่าชายหาด

 

 

บัวสาย

ชื่ออังกฤษ : Lotus stem, Water lily, Red indian water lily

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nymphaea lotus

สมุนไพรบัวสาย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บัวสายกิน, บัวกินสาย, สายบัว, บัวขม, บัวขี้แพะ, บัวแดง, บัวสายสีชมพู, บัวจงกลนี, จงกลนี, สัตตบรรณ, สัตตบุษย์, ปริก, ป้าน, ป้านแดง, รัตอุบล, เศวตอุบล และยังมีชื่อเรียกต่างกันไปตามสีของดอก โดยดอกสีชมพูจะเรียก ลินจง หากเป็นดอกสีขาวจะเรียก กมุท กุมุท โกมุท เศวตอุบล และถ้าดอกเป็นสีม่วงแดงจะเรียกว่า สัตตบรรณ รัตนอุบล ต้นบัวสาย บัวสายนั้นมีถิ่นกำเนิดในเขตที่ราบลุ่มของทวีปเอเชีย ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยด้วย จึงเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยมาเนิ่นนานแล้วจัดเป็นพืชน้ำอายุหลายปี เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของไทย มีเหง้าอยู่ใต้ดินรากฝักอยู่ในโคลนเลน ก้านอยู่ใต้น้ำ ส่วนก้านดอกอ่อนมีเปลือกลอกออกได้เป็นสายใย ผิวเกลี้ยงและไม่มีหนาม เจริญเติบโตได้ในดินเหนียวที่มีอินทรียวัตถุสูง และเจริญเติบโตได้ดีในระดับน้ำลึกประมาณ 0.3-1 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เหง้าและเมล็ด

 

 

ผักแขยง

ชื่ออังกฤษ : Vegetable sprouts

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Limnophila aromatica

ลักษณะของผักแขยง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักพา (ภาคเหนือ), จุ้ยหู่โย้ง (จีนแต้จิ๋ว), สุ่ยฝูโหยง (จีนกลาง), ผักกะแยง แขยง คะแยง ผักกะออม มะออม ผักลืมผัว ควันเข้าตา อีผวยผาย เป็นต้น ต้นผักแขยง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน เป็นพืชฤดูเดียวหรือหลายฤดู และจัดเป็นวัชพืชในนาข้าว ลำต้นกลมกลวงและเป็นข้อ ๆ และมีความสูงได้ประมาณ 30-70 เซนติเมตร อาจแตกกิ่งมากหรือไม่แตกกิ่ง ลำต้นทอดเลื้อย ผิวเกลี้ยงหรือมีต่อม แตกรากจากข้อ ทั้งต้นและใบเมื่อนำมาหักจะมีกลิ่นหอมฉุนและเผ็ดร้อน ออกดอกและติดในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินชื้นแฉะ มักขึ้นตามริมคูหรือคันนา อ่างเก็บน้ำ บริเวณที่มีน้ำขังเล็กน้อย และพื้นที่ชุ่มชื้นอื่น ๆ มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย จีน ภูฏาน เกาหลี ญี่ปุ่น ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย รวมทั้งไทยทั่วทุกภาคของประเทศ ใบผักแขยง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อทุกข้อตลอดลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบห่อติดกับลำต้น ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-15 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว เส้นใบเป็นแบบขนนก

 

 

ผักไผ่ (ผักแพว)

ชื่ออังกฤษ : Vietnamese coriander

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Persicaria odorata

ต้นผักแพว จัดเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นสูงประมาณ 30-35 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง มีข้อเป็นระยะ ๆ ตามข้อมักมีรากงอกออกมา หรือลำต้นเป็นแบบทอดเลื้อยไปตามพื้นดินและมีรากงอกออกมาตามส่วนที่สัมผัสกับพื้นดิน เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ชื้นแฉะ เช่น ในบริเวณห้วย หนอง คลอง บึง หรือตามแอ่งน้ำต่าง ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการใช้ลำต้นปักชำ (เมล็ดงอกยาก นิยมใช้กิ่งปักชำมากกว่า) พรรณไม้ชนิดนี้เป็นพืชล้มลุก พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพราะเกิดได้เองตามธรรมชาติ • ใบผักแพว มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกหรือรูปหอกแกมรูปไข่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5.5-8 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลมคล้ายใบไผ่แต่บางกว่า ขอบใบเรียบ ฐานใบเป็นรูปลิ่ม ก้านใบสั้นมีหู ใบลักษณะคล้ายปลอกหุ้มรอบลำต้นอยู่บริเวณเหนือข้อของลำต้น • ดอกผักแพว ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกมีดอกย่อยขนาดเล็กสีขาวนวลหรือชมพูม่วง

 

 

ผักชีล้อม

ชื่ออังกฤษ : Water dropwort, Oenanthe

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Foeniculum vulgare

ผักชีล้อม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักอัน ผักอันอ้น ผักอันอ้อ ผักผันอ้อ จีอ้อ ผักหนอกช้าง จุ้ยคึงไฉ่ (จีน) เป็นต้น ผักชีล้อม จัดเป็นเครื่องเทศที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว ในปัจจุบันก็เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ลักษณะของผักชีล้อม ต้นผักชีล้อม จัดเป็นพืชล้มลุกที่โผล่ขึ้นเหนือน้ำหรือทอดเลื้อยไปตามพื้นผิวดิน มีความสูงของต้นตั้งแต่ 10-100 เซนติเมตร และมีความสูงโดยประมาณอยู่ที่ 60 เซนติเมตร ลำต้นกลวงอวบน้ำ ผิวภายนอกเป็นร่อง ชอบขึ้นในน้ำและที่ชื้นแฉะ ขายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเม็ด การแยกไหล และการปักชำ

 

 

ลำพูป่า

ชื่ออังกฤษ : Lamphu Forest

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Duabanga grandiflora

จัดอยู่ในวงศ์ตะแบก (LYTHRACEAE) ลำพูป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กาลา คอเหนียง (เชียงใหม่), สะบันงาช้าง (แพร่), กระดังงาป่า (กาญจนบุรี), ตะกูกา (จันทบุรี), ลิ้นควาย (ปราจีนบุรี), หงอกไก่ (ประจวบคีรีขันธ์), ขาเขียด (ชุมพร), ลำพูขี้แมว (ระนอง), ลำแพน (ตรัง), ลำแพนเขา (ยะลา), ลำพูควน (ปัตตานี), เต๋น ตุ้มเต๋น ตุ้มบก ตุ้มลาง ตุ้มอ้า ลาง ลูกลาง ลูกลางอ้า (ภาคเหนือ), ตะกาย โปรง ลำพูป่า (ภาคใต้), บ่อแมะ (มลายู-ยะลา), บะกูแม (มลายู-นราธิวาส), กู โก๊ะ ซังกะ เส่ทีดึ๊ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ซิกุ๊ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), โก (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร), ซ่อกวาเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), กาปลอง (ชอง-จันทบุรี), เตื้อเร่อะ (ขมุ), ไม้เต๋น (ไทลื้อ), ลำคุบ ไม้เต้น (ลั้วะ), ซือลาง (ม้ง) เป็นต้น ต้นลำพูป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นโตเร็วผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง มีความสูงได้ประมาณ 15-35 เมตร โตวัดรอบลำต้นได้ประมาณ 100-200 เซนติเมตร เรือนยอดแผ่กว้าง รูปทรงกลมหรือทรงกระบอก กิ่งใหญ่จะตั้งฉากกับลำต้น ปลายกิ่งห้อยลู่ลง เปลือกเป็นสีเทาเป็นสะเก็ดหรือตกเป็นแผ่นไม่เป็นระเบียบ เปลือกในเป็นสีน้ำตาลแดงคล้ำ ส่วนกระพี้เป็นสีน้ำตาลปนเหลือง ตามกิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม สีเหลือง เกลี้ยง บิดไปมาระหว่างคู่ใบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบขึ้นตามป่าริมน้ำ ริมลำธาร หรือลำห้วยทั่วไปทางภาคเหนือและภาคใต้ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขาต่ำ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 300-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในต่างประเทศพบได้ที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย